วันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2553

The Roles Of Information Systeme In Business

บทบาทของระบบสารสนเทศในธุรกิจ
(The Roles of Information Systems in Business)
โดย
ผศ.สุพล พรหมมาพันธุ์
ภาควิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
คณะสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
ลงตีพิมพ์ในวารสาร Business.com Vol. 197, July 2005 หน้า 88

ในยุคของโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันกันสูงมากในปัจจุบัน เทคโนโลยีและระบบสารสนเทศ มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากที่จะเข้าไปช่วยสนับสนุนการแข่งขันในธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ และได้เปรียบคู่แข่งขัน ใoทุกธุรกิจองค์กรมีการใช้ระบบสารสนเทศเป็นเครื่องมือหลักในการประมวลผลรายการ ช่วยบริหารตัดสินใจ แก้ไขปัญหา ตลอดจนการปฏิบัติการในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐบาล หรือภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งเทคโนโลยีสารสนเทศที่นำไปใช้นั้นมีหลายประเภท เช่น อินเตอร์เน็ต, จดหมายเล็กทรอนิกส์ (Electronic Mail), การสับเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Interchange : EDI), ระบบการประชุมผ่านจอภาพวิดีโอ (Video Conferencing), เครือข่ายคอมพิวเตอร์ระหว่างองค์กร (Internetworking of the Enterprise) เป็นอาทิ ในมุมมองทางธุรกิจ (Business Perspective) ถือว่าระบบสารสนเทศ คือ กระบวนการแก้ไขปัญหาที่มีโครงสร้างอย่างดี สอดคล้องตามเทคโนโลยีข่าวสารที่นำมาใช้ เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายทั้งหลายจากสิ่งแวดล้อมขององค์กร ในการทำความเข้าใจความหมายของระบบสารสนเทศอย่างลึกซึ้ง ผู้บริหารจึงต้องมีความเข้าใจโครงสร้างขององค์กร กระบวนการบริหารงาน เทคโนโลยีข่าวสารและความสามารถในการนำเสนอกระบวนการแก้ปัญหา (Kenneth C. Laudon. 2002 : 8) ระบบสารสนเทศนั้น นับได้ว่า เป็นปัจจัยพื้นฐานในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการให้การบริการแก่ลูกค้า การปฏิบัติการ, การผลิต และการใช้กลยุทธ์ด้านการตลาด ช่วยทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ มีผลกำไรตามเป้าหมาย สำหรับบทบาทของระบบสารสนเทศที่นำไปใช้ในธุรกิจนั้น ส่วนใหญ่นำไปใช้ 3 ด้าน คือ :

1. สนับสนุนการปฏิบัติการทางธุรกิจ (Support of business operations)

ระบบสารสนเทศสนับสนุนการปฏิบัติการทางธุรกิจนี้ ส่วนใหญ่เป็นลักษณะการทำงานของผู้บริหารในส่วนปฏิบัติงาน โดยการช่วยบันทึกรายละเอียดของงานระดับล่าง และรายการธุรกรรมข้อมูล (Transaction) เช่นรายการขายสินค้า รายการใบเสร็จรับเงิน จำนวนเงินสด รายการค่าจ้าง รายการเครดิต รายการและจำนวน สินค้าหรือวัสดุสำหรับการผลิตในโรงงาน ระบบนี้มีวัตถุประสงค์หลักในการตอบคำถามสำหรับงานและรายการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เช่น มีจำนวนวัสดุเหลืออยู่ในคลังเท่าไร เป็นต้น ข้อมูลที่เก็บอยู่ในระบบนี้ จึงต้องสามารถเรียกใช้ได้สะดวก ทันสมัย และมีความเที่ยงตรง ตัวอย่างระบบงานประเภทนี้ได้แก่ ระบบงานสำหรับบันทึกรายการทำงานของเครื่องเบิกเงินอัตโนมัติ (ATM) และระบบงานสำหรับบันทึกจำนวนชั่วโมงทำงานในแต่ละวันของพนักงานทุกคนในโรงงาน (Kenneth C. Laudon. 2002 : 28) นอกเหนือจากนี้ยังสามารถ2 พบเห็นได้จากตัวอย่างของร้านขายปลีก (Retail store) ผู้ค้า หรือผู้บริโภคสามารถใช้ระบบสารสนเทศมาช่วยสนับสนุนการปฏิบัติการทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี นั่นคือมีการใช้ระบบสารสนเทศทางคอมพิวเตอร์เป็นพื้นฐาน (Computer based information systems) โดยนำมาช่วยในการจัดเก็บบันทึกการซื้อสินค้าของลูกค้า, จัดเก็บรายการสินค้าในคงคลัง, จ่ายเงินเดือนให้กับพนักงาน, ซื้อสินค้าใหม่เข้ามา, และประเมินผลทิศทางแนวโน้มของการขายสินค้า เป็นต้น

2. สนับสนุนการบริหารการตัดสินใจ (Support of managerial decision making)

ระบบสนับสนุนบริหารการตัดสินใจ เป็นระบบย่อยระบบหนึ่งที่อยู่ในระบบสารสนเทศที่นำเอาระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการบริการงานในแต่ละส่วนขององค์กร โดยสามารถใช้กับการตัดสินใจของบุคคลเพียงคนเดียวหรือช่วยในการตัดสินใจของบุคคลเป็นกลุ่มก็ได้ นอกจากนั้น ระบบสนับสนุนการตัดสินใจยังช่วยในการตัดสินใจในปัญหาแบบกึ่งโครงสร้าง (Semistructured) และไม่มีโครงสร้าง (Unstructured) ได้อีกด้วย โดยที่ระบบสนับสนุนการตัดสินใจจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจให้กับผู้บริหาร โดยมีการเสนอข้อมูลที่จำเป็นในการตัดสินใจให้กับผู้บริหาร เพื่อให้ผู้บริหารได้วิเคราะห์ และทำความเข้าใจกับข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งสามารถใช้ในการตัดสินใจได้ นอกจากนั้นยังช่วยให้ผู้บริหารได้เลือกใช้ทางเลือกที่เหมาะสมกับปัญหานั้นๆ มากที่สุด (นิภาภรณ์ คำเจริญ. 2545 : 121) อื่นใดอีกระบบสารสนเทศสามารถช่วยผู้จัดการร้านขายปลีกได้อีกด้วยคือ ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ และทำให้ได้รับผลประโยชน์ในเรื่องของการแข่งขัน เช่น ช่วยในการสนับสนุนการตัดสินใจว่า สินค้าประเภทใดควรจะผลิตเพิ่มต่อไป หรือการลงทุนในด้านใดที่ควรจะลงทุนเพิ่ม หลังจากนั้นก็ดำเนินการวิเคราะห์โดยใช้ระบบสารสนเทศทางคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย ในการนำเอาระบบสนับสนุนการตัดสินใจมาช่วยในการบริหารงานในองค์กรนั้น มีอยู่ด้วยกัน 3 ระดับ คือ (1). ระดับการจัดการแบบปฎิบัติการ (Operation Management) เป็นระดับที่มีโครงสร้างมาก (Structured) ในระดับนี้จะเป็นการใช้กลยุทธ์แบบปฏิบัติการ (Operating) งานในระดับนี้เป็นงานประจำที่ทำทุกวัน และมีจำนวนคนอยู่มาก ตั้งแต่ผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ พนักงาน และเสมียนทั่วไป จึงเปรียบได้กับฐานของปิรามิด, (2) ระดับการจัดการแบบยุทธวิธี (Tactical Management) ในระดับนี้เป็นการใช้การตัดสินใจแบบกึ่งโครงสร้าง (Semistructured) คือมีโครงสร้างบ้างเหมือนกันแต่มีไม่มากเท่าใดนัก คนที่อยู่ในระดับนี้ได้แก่ผู้จัดการฝ่ายต่างๆ เช่น ฝ่ายขาย, ฝ่ายจัดซื้อ เป็นต้น ซึ่งผู้จัดการต้องอาศัยไหวพริบปฏิภาณในการตัดสินใจ เพื่อที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้สำเร็จลุล่วงไปได้ เช่น การตั้งงบประมาณสำหรับการใช้จ่าย, และ (3). ระดับการจัดการแบบกลยุทธ์ (Strategic Management) เป็นระดับการตัดสินใจแบบที่ไม่มีโครงสร้าง (Unstructured) ต้องอาศัยซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการตัดสินใจให้ง่ายขึ้น ส่วนใหญ่ผู้บริหารระดับนี้ มีจำนวนน้อย เป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กร เช่น ประธานกรรมการของบริษัท จึงเปรียบเสมือนยอดของปิรามิด

3. สนับสนุนกลยุทธ์ข้อดีในการแข่งขัน (Support of strategic competitive advantage)

สำหรับข้อดีในเรื่องการแข่งขันนั้น จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างของระบบเก่า ให้ดีกว่าเดิมโดยมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วย เช่น ผู้จัดการร้าน อาจจะตัดสินใจติดตั้งระบบสั่งซื้อสินค้าผ่านแคตาล็อกด้วยระบบคอมพิวเตอร์จอภาพสัมผัส (Computerized Touch-screen) และระบบการซื้อผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet-based Computer Shopping Networks) ด้วยการทำเช่นนี้ อาจทำให้ได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นข้อดีในเรื่องของการแข่งขัน ในปัจจุบันระบบสารสนเทศเล่นบทบาทสำคัญต่อการดำรงอยู่ขององค์กร หลายครั้งชนะหรือความพ่ายแพ้ของธุรกิจนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน เพื่อให้ธุรกิจมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง ระบบสารสนเทศทำให้การจัดการเชิงกลยุทธ์มี ประสิทธิภาพ และในทางกลับกัน องค์กรต้องมีกลยุทธ์ในการพัฒนาระบบสารสนเทศที่เข้มแข็ง โดยที่การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในเชิงกลยุทธ์ซึ่งเกิดจากแรงผลักดัน 2 ประการ คือ

1.0 การผลักดันของเทคโนโลยี (Technology Push) เทคโนโลยีสารสนเทศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ทำให้อุปกรณ์ด้านสารสนเทศมีความสามารถสูงขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่ำลง นอกจากนี้ การเชื่อมต่อระบบสารสนเทศเข้าเป็นเครือข่าย ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เกิดการบริหารความเหมาะสม ซึ่งลดค่าใช้จ่ายในการทำงานที่ซ้ำซ้อน ส่งผลให้องค์กรสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

2.0 การดึงของการตลาด (Marketing Pull)เทคโนโลยีสารสนเทศถูกนำมาประยุกต์ใช้ในองค์กรทั้งโดย

ทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น สงผลให้องค์กรต้องหาเครื่องมือที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน หรือพยายามสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งโดยการพัฒนานวัตกรรม (Innovation) ด้านผลิตภัณฑ์และบริการ ( ณัฎฐพันธ์ เขจรนันทน์. 2545 : 222) จะเห็นได้ว่า ในแง่ของการแข่งขัน เทคโนโลยีสารสนเทศ มีความสำคัญอย่างขาดเสียไม่ได้ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ การใช้อินเตอร์เน็ตเข้ามาช่วยในธุรกิจและองค์กร ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ทำให้ลูกค้าสามารถติดต่อกับทางบริษัทได้โดยผ่านเว็บไซต์ขององค์กร หรือ การเปิดโอกาสให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าผ่านอีเมล์ การเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านระบบการสนทนา (Chat Room) เป็นต้น จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ปัจจุบันนิยมใช้การติดต่อสื่อสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่ แม้แต่การใช้และผลิตเอกสารก็เป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ได้เป็นเอกสารกระดาษเหมือนเก่าก่อน 4 บิลล์ เกตส์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทไมโครซอฟท์ เขียนไว้ในหนังสือเส้นทางสู่อนาคต (The Road Ahead) ว่า เอกสารอิเล็กทรอนิกส์สมบูรณ์แบบมีศักยภาพสูงกว่าแผ่นกระดาษ เทคโนโลยีฐานข้อมูลอันทรงพลังบนทางด่วนข้อมูลจะช่วยจัดทำดัชนี และเรียกค้นมาใช้งานในเชิงปฏิสัมพันธ์ เทคโนโลยีนี้ ราคาจะต่ำมากและง่ายในการเผยแพร่ กล่าวโดยสรุปก็คือ เอกสารดิจิตอลแบบใหม่นี้ จะเข้ามาแทนที่เอกสารที่ตีพิมพ์บนแผ่นกระดาษ (บิลล์ เกตส์ .1995 : 132) ดังนั้น เมื่อทราบสภาวการณ์ปัจจุบันว่า การแข่งขันมีแนวโน้มจะเพิ่มทวีสูงมากขึ้นเป็นลำดับ ธุรกิจองค์กรที่นำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าไปช่วย ย่อมทำให้ได้เปรียบในเชิงของการแข่งขัน เช่น การให้ลูกค้าสามารถติดต่อเข้ามาผ่านทางเว็บไซต์ หรือติดต่อผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Mail) เป็นต้น ทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็วทันใจ องค์กรใดที่ยังไม่มีระบบสารสนเทศที่ทันสมัยใช้ จำเป็นต้องพัฒนาระบบสารสนเทศใหม่ๆ ขึ้นมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นสารสนเทศเกี่ยวกับการบริหารงาน สารสนเทศของผลิตภัณฑ์สินค้าประเภทต่างๆ ตามสายผลิตภัณฑ์ ด้วยเหตุผลดังกล่าว บทบาทของระบบสารสนเทศที่ใช้ในธุรกิจจึงสรุปได้เป็น 3 ด้าน คือ (1). สนับสนุนการปฏิบัติการทางธุรกิจ, (2). สนับสนุนการบริหารการตัดสินใจ และ (3). สนับสนุนกลยุทธ์ข้อดีในการแข่งขัน ผู้บริหารสามารถที่จะนำสารสนเทศมาสร้างกลยุทธ์ในการแข่งขันได้ โดยอาจจะสร้างแบบจำลองในเรื่องการสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ (Product differentiation) การผลิตในต้นทุนต่ำหรือผู้นำด้านต้นทุน (Cost Leadership) หรือการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว (Quick Response) (ประสงค์ ปราณีตพลกรัง. 2541 : 20) ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการขององค์กรให้มีความพร้อมต่อการแข่งขันเชิงธุรกิจในทุกสภาพการณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น