วันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2553

Trend Of Information Systems In The Futurt

แนวโน้มของระบบสารสนเทศในอนาคต
(Trend of Information Systems in the Future)
โดย
ผศ.สุพล พรหมมาพันธุ์  ภาควิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
คณะสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
ลงตีพิมพ์ในวารสาร ส่งเสริมเทคโนโลยี ฉบับที่ 183
ตุลาคม- พฤศจิกายน พ.. 2548 หน้า 168

การเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยการแข่งขันอย่างรุนแรงในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจทุกประเภท ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากรู้เท่าทันก็สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้อย่างทันท่วงที หากรู้เท่าไม่ทัน หรือล่าช้าในการปรับเปลี่ยนกระบวนการ ย่อมอาจต้องกลับกลายเป็นเบี้ยล่างอย่างแน่นอน ท่าทีการแข่งขันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันเป็นยุคของสารสนเทศ (Information Age) ดังนั้น แนวโน้มของสารสนเทศที่ควรรู้เท่าทัน มีหลายด้านไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการผลิตไมโครคอมพิวเตอร์ให้มีประสิทธิภาพสูง และสามารถจุข้อมูลได้มาก หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ประเภทต่างๆ ซึ่งมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ไปจนถึงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ใช้กับโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ คือ

1. การพัฒนาไมโครคอมพิวเตอร์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในด้านการประมวลผล, การประยุกต์ใช้ซอฟท์แวร์ด้านต่างๆ , และการสื่อสารทางไกลในระบบเครือข่าย การสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นมาใช้งานในครั้งแรกนั้น ฮาร์ดดิสก์มีความจุเพียง 40 เมกกะไบต์เท่านั้น (Megabyte:MB) แต่ในปัจจุบันฮาร์ดดิสก์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล มีความจุถึง 60-80 กิกกะไบต์ (Gigabyte:GB) การทำงานของไมโครคอมพิวเตอร์จะมีประสิทธิภาพสูงเพียงใด ขึ้นอยู่กับการทำงานของซีพียู (Central Processing Unit : CPU) หรือหน่วยประมวลผลกลาง ปัจจุบันมีการแข่งขันด้านการผลิตซีพียูสูงมาก ดังเช่น ค่ายของอินเทลและเอเอ็มดี ทั้งสองค่ายนี้ แข่งขันกันมาตลอด ล่าสุดอินเทล (Intel) ปรับปรุงซีพียูรุ่นประหยัดอย่างเซลเลอรอนตัวเก่า มาในมาดใหม่ทั้งนอกและใน โดยให้ชื่อว่า Celeron D ที่หลายๆ คนน่าจะพอได้ยินมาบ้างแล้ว สำหรับเซลเลอรอนใหม่นี้ ปรับปรุงหลายอย่างให้มีประสิทธิภาพ ไล่มาตั้งแต่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ 90 นาโนไมครอน มีขนาดเล็กลงแต่ได้ความเร็วสูงขึ้น แพ็กเกจเป็นแบบ LGA 775 ไร้ขาต่อ ประกอบง่าย ความเร็วบัส FSB เพิ่มเป็น 533 เมกะเฮิรตซ์ สนับสนุนชุดคำสั่งมัลติมีเดียทั้ง MMX, SSE, SSE2 และ SSE3 รวมถึงคุณสมบัติใหม่อย่าง XD-bit ด้วย ส่วนแอลสองแคชก็ยังเพิ่มเป็น 256 กิโลไบต์อีกด้วย เซลเลอรอนดี รหัส 340J นี้ มีความเร็วการทำงานอยู่ที่ 2.93 กิกะเฮิรตซ์ ถือว่าเป็นรุ่นท็อปสำหรับตระกูลเซลเลอรอนในตอนนี้ ส่วนประสิทธิภาพของซีพียูรุ่นนี้ ความเร็วเกือบ 3 กิกะเฮิรตซ์ เมื่อวัดด้วย Sisoft Sandra แล้ว กราฟออกมาสูสีกับเพนเทียมโฟร์รุ่นนอร์ธวูด ทั้งเพนเทียมโฟร์ และเซลเลอรอนตัวใหม่ (ซ็อกเก็ต 775) มีเทคโนโลยีที่เรียกว่า XD-bit (Execute Disable Bit) เป็นเทคโนโลยีซีพียูที่ช่วยป้องกันการรันโค้ดแปลกปลอมที่เป็นอันตราย เช่น ไวรัสและเวิร์ม เป็นต้น ผู้ใช้สามารถใช้ประโยชน์จากฟีเจอร์นี้ได้ จะต้องรันโอเอสวินโดวส์เอ็กซ์พีที่ลงเซอร์วิสแพ็กสองแล้วเท่านั้น 2 รายละเอียดเรื่องนี้หาอ่านได้จากลิงก์ http://65.68.55.12/inetpub/ftproot/intel_XD_info.htm (สิงห์สนามซ้อม rookie@tagc.co.th : 2004 : 55)

2. มีการใช้ระบบสารสนเทศสนับสนุนการทำงานของผู้บริหาร (Executive Information Systems : EIS) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ระบบสนับสนุนผู้บริหารระดับสูง (Executive Support Systems : ESS) ไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวกับเรื่องสารสนเทศสำหรับการจัดทำรายงาน หรือการวิเคราะห์ตัวแบบเพื่อตัดสินใจ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อช่วยผู้บริหารเกี่ยวกับเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนต่างๆ เช่น เรื่องการเงิน งบประมาณ เป็นต้น ผู้บริหารสามารถเรียกใช้สารสนเทศตามรูปแบบที่ตนเองมีความต้องการ ระบบสารสนเทศสนับสนุนการทำงานของผู้บริหารนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยในการตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูง ซึ่งใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ หรือแผนการทำงานระยะยาวขององค์กร ระบบ EIS นี้ มีโครงสร้างเหมาะสมกับปัญหาแบบไม่มีโครงสร้าง ต้องเน้นที่ความอ่อนตัวในการทำงาน และสนับสนุนการสื่อสารมากกว่าที่จะสร้างโปรแกรมประยุกต์ที่ออกแบบมาให้ทำงานเฉพาะด้านเหมือนในระบบ MIS เท่านั้น ระบบ EIS ใช้ข้อมูลทั้งจากภายนอกองค์กร เช่น ตารางเวลาการประกาศใช้กฏหมายใหม่ กำหนดการชำระภาษี หรือข้อความโฆษณาจากบริษัทคู่แข่ง และข้อมูลภายในองค์กร คือ ข้อมูล ที่ถ่ายทอดมาจากระบบ MIS (Management Information Systems) และ DSS (Decision Support Systems) นั่นเอง ข้อมูลทั้งหมดจะถูกประมวลผลด้วยวิธีการต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกลั่นกรองข้อมูล และนำเสนอเฉพาะส่วนที่มีความสำคัญต่อผู้บริหารระดับสูง ซึ่งจะเน้นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่ช่วยให้การนำเสนอมีความสะดวกและง่ายแก่การรับรู้มากที่สุด เช่น การใช้รูปกราฟิกส์ ระบบ EIS หรือ ESS เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการคำนวณ ทั่วไป และการสื่อสารซึ่งจะตอบคำถาม เช่น แนวโน้มการทำธุรกิจในอนาคตควรเป็นประเภทใด บริษัทคู่แข่งมีฐานะการดำเนินงานเป็นอย่างไร จะป้องกันผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่แกว่งตัวได้อย่างไร ควรขยายบริษัทในเครือส่วนใดเพื่อจะได้นำเงินสดมาใช้หมุนเวียน (สัลยุทธ์ สว่างวรรณ : 2002 : 34-35)

3. มีการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และ ระบบผู้เชี่ยวชาญ (Expert Systems : ES) หรือ ระบบฐานความรู้ (Knowledge-base systems) เหล่านี้ เป็นบทบาทใหม่ของระบบ3 สารสนเทศ ปัญญาประดิษฐ์ คือ วิวัฒนาการที่ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ สามารถเลียนแบบมนุษย์ได้ทุกอย่าง เช่น การคำนวณ การเดิน การพูด การจับวัตถุสิ่งของได้ เป็นต้น ปัญญาประดิษฐ์นี้ เริ่มมีการนำมาใช้เป็นครั้งแรกในช่วงกลางทศวรรษที่ 1950 โดย John McCarthy มี 5 สาขาด้วยกัน คือ (1). ระบบผู้เชี่ยวชาญ (Expert Systems: ES), (2). ภาษาธรรมชาติ (Natural Languages), (3). ระบบจับภาพ (Vision Systems), (4). หุ่นยนต์ (Robotics) และ (5). เครือข่ายประสาท (Neural Networks) (ประสงค์ ปราณีตพลกรัง : 2541 : 240-243 ) ในบรรดาปัญญาประดิษฐ์ทั้งหมด ที่มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพัฒนาอย่างรวดเร็ว และกำลังเป็นที่นิยมใช้กันมากที่สุด คือ หุ่นยนต์ เริ่มแรกนั้น ส่วนใหญ่มีการใช้หุ่นยนต์กันในเฉพาะแวดวงอุตสาหกรรม เช่น โรงงานผลิตรถยนต์ หรือการผลิตซิฟคอมพิวเตอร์ เป็นต้น แต่ในปัจจุบันมีการนำเอาหุ่นยนต์มาใช้งานหลายด้านมาก ไม่ว่าจะเป็นในโรงพยาบาล หรือในบ้าน จากการสำรวจขององค์การสหประชาชาติพบว่า สถิติการใช้หุ่นยนต์ภายในบ้านมีเพิ่มขึ้นเป็น 7 เท่าในปี 2007 (Brian Pomeroy : 2005 : 1) ในอนาคตข้างหน้า จะมีการนำเอาหุ่นยนต์มาใช้เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์มากขึ้น เช่น หุ่นยนต์บริการเติมน้ำมัน หุ่นยนต์ป้อนอาหารและยาให้กับคนไข้ในโรงพยาบาล หุ่นยนต์บริการรับใช้ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นชงกาแฟ หรือดูดฝุ่น นอกจากนี้ ยังมีการนำเอาระบบชีววิทยาของมนุษย์ เช่น สมอง (Brain) มาประกอบกับเครื่องจักรกล (Machines) ทำให้หุ่นยนต์สามารถจะคิดได้เช่นเดียวกับมนุษย์ (สุพล พรหมมาพันธุ์ : 2547 : 30) สำหรับระบบผู้เชี่ยวชาญสามารถอำนวยความสะดวกในเรื่องของการให้คำแนะนำ หรือให้แนวทางต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ได้ นับตั้งแต่ปี 1980 จนถึง 1990 แนวความคิดสำคัญคือมีการใช้ ระบบสารสนเทศเพื่อเป็นกลยุทธ์ทางการแข่งขัน (Strategic Information Systems : SIS) ซึ่งก็คือมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในกระบวนการทางธุรกิจ, การผลิต และการบริการ ซึ่งทำให้บริษัทหรือองค์กรได้รับประโยชน์อย่างมาก และเป็นข้อดีในการแข่งขันด้วย

4. มีการพัฒนาการใช้เครือข่ายระหว่างองค์กรและเครือข่ายระหว่างประเทศอย่างไร้พรมแดน (Enterprise and Global Internetworking) การพัฒนาเป็นไปอย่างรวดเร็วมีการใช้ อินเตอร์เน็ต, อินทราเน็ต และเอ็กทราเน็ต หรือเครือข่ายไร้พรมแดนอื่นๆ ในปี 1990 และหลังจากนั้นก็เปลี่ยนแปลงมาสู่ศตวรรษต่อมา ซึ่งก็คือการใช้เครือข่ายระหว่างองค์กร และเครือข่ายระหว่างประเทศอย่างไร้พรมแดน ซึ่งผู้ใช้สามารถใช้คอมพิวเตอร์สื่อสารกันได้ในระหว่างองค์กรและระหว่างประเทศ สามารถเขียนเอกสารหรือทำงานร่วมกัน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการทางธุรกิจ และการจัดการทางธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้อย่างกว้างไกล
สำหรับประโยชน์ของเครือข่ายคอมพิวเตอร์นั้น มีผลดีแก่ผู้ใช้ หรือผู้ประกอบการทางธุรกิจหลายประการด้วยกัน คือ

􀂃เป็นเครื่องมือสำหรับให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อสื่อสารกันได้ โดยไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Mail)

􀂃 ช่วยในการจัดเก็บข้อมูลไว้ ณ ที่เดียว และเอื้ออำนวยให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ที่อยู่ห่างไกลค้นหาข้อมูลที่จัดเก็บไว้นั้น นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง

􀂃 ช่วยประหยัดอุปกรณ์ หน่วยงานสามารถจัดหาอุปกรณ์ราคาแพงมาเชื่อมโยงในระบบเครือข่าย เพื่อให้ผู้ใช้ระบบเครือข่ายใช้อุปกรณ์เครือข่ายเหล่านี้ร่วมกันได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องซื้อหลายชุด

􀂃 ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานร่วมกันได้ในแบบ Workgroup งานหลายงานจำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกัน หรือทำงานโดยใช้เอกสารชุดเดียวกัน (ครรชิต มาลัยวงศ์ : 2540 : 91-92)

การใช้คอมพิวเตอร์เครือข่ายระหว่างองค์กร เป็นการใช้ระบบอินเตอร์เน็ตเชื่อมโยงถึงกันระหว่างองค์กร แต่ในภายในองค์กรนั้นอาจมีการใช้เครือข่ายภายใน (Intranet) เชื่อมโยงถึงกันอีกทีหนึ่ง ระบบนี้นอกจากจะเป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างองค์กรแล้ว อาจเป็นการเชื่อมโยงถึงหุ้นส่วน โดยใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์เป็นเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เพื่อสนับสนุนการปฎิบัติการทางธุรกิจของหลายๆ องค์กร หรือบางสังคมองค์กรอาจมีการใช้ซอฟท์แวร์เครือข่าย (Social networking software) เข้ามาเพื่อใช้วัด, อ่าน, และประเมินผลจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ , ประเมินการส่งข้อความ, และการเข้าสู่ตารางการทำงาน, ซึ่งซอฟท์แวร์จะทำการจับชื่อของข้อความและผู้เขียนในขณะที่เดียวกันก็มีการป้องกันเนื้อหาข้อความไม่ให้เกิดความเสียหายด้วย ส่วนตัวอย่างการใช้เครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างองค์กร ดังมีตัวอย่างของระบบนี้ คือ

4.1 พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Commerce) คือ การซื้อขาย, การทำการตลาด,

การให้การบริการด้านสารสนเทศต่างๆ ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การเชื่อมโยงระหว่างองค์กรนั้นมีการใช้ Internet, Intranet, Extranet หรือเครือข่ายอื่นๆ สนับสนุนกระบวนของการค้าในแต่ละขั้นตอน ซึ่งอาจรวมไปถึงทุกอย่างที่มีการโฆษณาด้วยระบบมัลติมีเดีย (Multimedia advertising), สารสนเทศด้านการผลิต (Product Information), และการบริการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าบน World Wide Web โดยทั้งนี้ การใช้อินเตอร์เน็ตนั้น ต้องมีการควบคุมความปลอดภัย เช่น กระบวนการชำระเงินซื้อสินค้า

4.2 ระบบการเขียนเอกสารหรือทำงานร่วมกันในองค์กร (Enterprise Collaborative

Systems) เกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องมือกลุ่มเพื่อสนับสนุนการสื่อสาร, การประสานงาน, และการเขียนเอกสารร่วมกันในกลุ่มของสมาชิกผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ สำหรับเครือข่ายที่ใช้ระหว่างองค์กรนั้นขึ้นอยู่กับ Intranet, Internet, Extranet และเครือข่ายอื่นๆ ที่พัฒนาขึ้นมา ตัวอย่าง เช่น พนักงาน และที่ปรึกษาภายนอก อาจใช้การทำงานกลุ่มเสมือนจริง (Virtual team) นั่นคือ มีการประสานงานกันผ่าน Intranet, และ Internet สำหรับเพื่อส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic mail), การประชุมทางไกลผ่านจอภาพวิดีโอ (Videoconferencing), การตัดสินใจกลุ่ม (Electronic discussion groups)

5. คอมพิวเตอร์มือถือ (Mobile Computers) คือ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลชนิดหนึ่ง ที่สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้สะดวก คล้ายกับอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีขนาดเล็กและถืออยู่ในมือได้ คอมพิวเตอร์มือถือที่เป็นที่นิยมมากที่สุด คือ คอมพิวเตอร์แบบพกพา (Notebook Computers) และมีการใช้อุปกรณ์ของโทรศัพท์มือถือด้วย คอมพิวเตอร์แบบพกพานี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า คอมพิวเตอร์แบบวางตั้งบนตัก (Laptop Computers) ซึ่งมีขนาดบางมาก มีน้ำหนักเบาแต่ว่า การทำงานมีประสิทธิภาพมาก คอมพิวเตอร์ที่ใช้อุปกรณ์โทรศัพท์มือซึ่งเป็นที่นิยมมากอีกชนิดหนึ่ง คือ คอมพิวเตอร์ช่วยงานส่วนบุคคล (Personal Digital Assistant : PDA) มีขนาดเล็กเท่าฝ่ามือ มีน้ำหนักเบาเช่นกัน คอมพิวเตอร์ชนิดนี้ ประกอบไปด้วยปฏิทิน สมุดบันทึกการนัดหมาย สมุดโทรศัพท์ เครื่องคำนวณตัวเลข และสมุดบันทึก นอกจากนี้ ยังประกอบไปด้วย ซอฟท์แวร์ประยุกต์ เช่น โปรแกรมประมวลผลคำ (Word Processing), โปรแกรมตารางคำนวณอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Spreadsheet), ระบบการเงินส่วนบุคคล (Personal Finance) และเกมส์คอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ PDA จะไม่มีแป้นพิมพ์ แต่จะใช้ปากกาดิจิตอลเขียนลงบนหน้าจอได้ และบางชนิดผลิตออกมาเพื่อสนับสนุนการใช้ระบบการอัดเสียงพูดและเสียงอื่นๆ ได้ และที่สำคัญสามารถใช้เปิดเข้าเว็บไซต์บนอินเตอร์เน็ตได้ ตลอดจนใช้ในการรับส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเมล์ได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถใช้เป็นโทรศัพท์ได้เช่นเดียวกัน ข้อมูลจาก Gartner ในเดือนกุมภาพันธ์ 2547 แสดงให้เห็นถึง ยอดจำหน่ายเครื่อง PDA ทั่วโลกในปีที่ผ่านมา สูงขึ้นราว 6.6 5 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 4,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นอัตราการเจริญเติบโตของตลาดเมื่อเทียบกับปี 2546 สูงขึ้นราว 16.7 เปอร์เซ็นต์ โดยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2547 ราคาเฉลี่ยของเครื่อง PDA ในตลาดสูงขึ้นเป็น 353 เหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2546 ราว 9.4 เปอร์เซ็นต์ (Statistic : กองบรรณาธิการ : 2548 : 68) ใช้สำหรับการจัดการสารสนเทศส่วนบุคคล ใช้งานอินเตอร์เน็ตได้ และใช้เป็นโทรศัพท์โทรเข้าออกได้ (Shelly Cashman Vermaat : 2005 : 21) ในอนาคตมีแนวโน้มของเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพสูงและมีการนำเอาเอาระบบสารสนเทศหลายประเภทเข้ามาใช้ในธุรกิจ คือ (1). การพัฒนาไมโครคอมพิวเตอร์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น, (2). มีการใช้ระบบสารสนเทศสนับสนุนการทำงานของผู้บริหารระดับสูง, (3). มีการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ขึ้นมาใช้ เช่น หุ่นยนต์, (4). มีการนำเอาระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ระหว่างองค์กรและเครือข่ายระหว่างประเทศมาใช้ และ (5). มีการนำเอาคอมพิวเตอร์มือถือมาใช้งานกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะมีการใช้การเชื่อมต่อไร้สายสู่ Mobile Trading เป็นการเชื่อมต่อสู่เครือข่ายความเร็วสูง (Wi-fi) ในจุดที่มีการให้บริการ เช่น ร้านกาแฟ โรงแรม มหาวิทยาลัย ฯลฯ เพราะในปัจจุบัน Wi-fi เริ่มมีให้บริการอย่างกว้างขวางมาก ซึ่งสามารถซื้อเวลาในการใช้บริการ (Account) ได้ เหมือนการใช้อินเตอร์เน็ตทั่วไปจากจุดบริการ และมีการใช้บริการโดยใช้บริการได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว หรือคอมพิวเตอร์แบบพกพา เพื่อรองรับการใช้งานสำหรับเครือข่าย Wi-fi ราคาการให้บริการของ Wi-fi ยังค่อนข้างสูง คือประมาณชั่วโมงละ 80-300 บาท แล้วแต่สถานที่ จึงต้องเป็นนักลงทุนระดับ Exclusive อยู่เหมือนกัน (กองบรรณาธิการ : 2548 : 80) เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งความจริง6
แล้วยังอีกเทคโนโลยีสารสนเทศอีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นระบบการสับเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Interchange : EDI) หรือการแลกเปลี่ยนเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายระหว่างธนาคารด้วยกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น